เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. อักโกสวรรค 3. ทุติยวิวาทมูลสูตร
3. ทุติยวิวาทมูลสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งวิวาท สูตรที่ 2
[43] พระอุบาลีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มูลเหตุแห่งวิวาทมี
เท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการ
มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
1. แสดงอนาบัติว่า ‘เป็นอาบัติ’
2. แสดงอาบัติว่า ‘เป็นอนาบัติ’
3. แสดงอาบัติเบาว่า ‘เป็นอาบัติหนัก’
4. แสดงอาบัติหนักว่า ‘เป็นอาบัติเบา’
5. แสดงอาบัติชั่วหยาบ1ว่า ‘ไม่เป็นอาบัติชั่วหยาบ’
6. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า ‘เป็นอาบัติชั่วหยาบ’
7. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่า ‘เป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ2’
8. แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า ‘เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ’
9. แสดงอาบัติที่ทำคืนได้ว่า ‘เป็นอาบัติที่ทำคืนไม่ได้’
10. แสดงอาบัติที่ทำคืนไม่ได้ว่า ‘เป็นอาบัติที่ทำคืนได้3’
อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท 10 ประการนี้แล
ทุติยวิวาทมูลสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 อาบัติชั่วหยาบ หมายถึงอาบัติปาราชิก 4 สิกขาบท และอาบัติสังฆาทิเสส 13 สิกขาบท ดู วินัยปิฎกแปล
เล่มที่ 1 ข้อ 399 หน้า 511
2 อาบัติมีส่วนเหลือ หมายถึงสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต อาบัติไม่มี
ส่วนเหลือ หมายถึงปาราชิก 4 (องฺ.เอกก.อ. 1/150/85)
3 ข้อ 43 ดู อังคุตตรนิกายแปล เล่มที่ 20 ข้อ 150-159 หน้า 21

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :95 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. อักโกสวรรค 4. กุสินารสูตร
4. กุสินารสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่กรุงกุสินารา
[44] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์เป็นที่ประกอบ
พลีกรรม เขตกรุงกุสินารา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม 5
ประการในตน พึงตั้งมั่นธรรม 5 ประการไว้ในตนแล้วจึงโจทผู้อื่น
ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงพิจารณาไว้ในตน 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้มี
กายสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบกายสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่
บกพร่องหรือไม่หนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุ
ไม่เป็นผู้มีกายสมาจารบริสุทธิ์ มิได้เป็นผู้ประกอบกายสมาจารบริสุทธิ์
ไม่ขาด ไม่บกพร่อง ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านสำเหนียก
ความประพฤติทางกายก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้
2. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้มี
วจีสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่
บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุไม่
เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่เป็นผู้ประกอบวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด
ไม่บกพร่อง ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านสำเหนียกความ
ประพฤติทางวาจาก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้
3. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเข้าไป
ตั้งเมตตาจิตไม่อาฆาตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายแล้วหรือหนอ ธรรมนี้
มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุยังไม่เข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่
อาฆาตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายแล้ว ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า
“เชิญท่านเข้าไปตั้งเมตตาจิตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเสียก่อนเถิด”
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :96 }